ใบเลื่อยเครื่องเลื่อย |
ใบเลื่อยเป็นอุปกรณ์ของเครื่องเลื่อยที่มีความสำคัญมาก ทำหน้าที่ตัดเฉือนชิ้นงาน ใบเลื่อยเครื่องทำจากเหล็กรอบสูง มีความเข็งแต่เปราะ ดังนั้นการประกอบใบเลื่อยเข้ากับโครงเลื่อย จะต้องประกอบให้ถูกวิธีและขันสกรูให้ใบเลื่อยตึงพอประมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้ใบเลื่อยหัก ส่วนต่าง ๆ ของใบเลื่อยประกอบด้วยความกว้าง ความยาว ความหนา ความโตของรูใบเลื่อย และจำนวนฟันใบเลื่อย ซึ่งมีทั้งฟันหยาบและฟันละเอียด จำนวนฟันใยเลื่อยบอกเป็นจำนวนฟันต่อนิ้ว เช่น 10 ฟังต่อนิ้ว 14 ฟันต่อนิ้ว แต่ที่นิยมใช้งานทั่ว ๆ ไป คือ 10 ฟันต่อนิ้ว
ลักษณะของใบเลื่อย
1. ความยาวของใบเลื่อย การวัดความยาวของใบเลื่อยจะวัดจากจุดศูนย์กลางของรูยึดใบเลื่อยทั้งสอง เรียกว่าขนาดความยาวของใบเลื่อยจะมีขนาด 200 ม.ม. และขนาด 300 ม.ม.
2. ความกว้างของใบเลื่อย กว้าง 12.7 ม.ม. หรือ 1/2 นิ้ว
3. ความหนาของใบเลื่อย หนา 0.64 ม.ม. หรือ 0.025 นิ้ว
4. การวัดจำนวนฟันของใบเลื่อย คือ วัดระยะห่างของยอดฟันหนึ่งถึงยอดฟันหนึ่ง
- ในระบบเมตริก เรียกว่าระยะพิต Pitch (P)
- ในระบบอังกฤษ จะวัดขนาดความถี่ห่างของฟันเลื่อยนิยมบอกเป็นจำนวนฟันต่อความยาว 1 นิ้ว
การเลือกใช้ใบเลื่อยให้เหมาะสม
จำนวนฟัน/นิ้ว 14,16,18 - วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุอ่อน เช่น ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว อลูมิเนียม พลาสติก เหล็กเหนียว - ช่วงยาวของแนวตัด มากกว่า 40mm ขึ้นไป
จำนวนฟัน/นิ้ว 22,24 - วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุแข็งปานกลาง เช่น เหล็กหล่อ เหล็กโครงสร้าง ทองเหลือง - ช่วงยาวของแนวตัด น้อยกว่า 40mm ลงมา
จำนวนฟัน/นิ้ว 32 - วัสดุที่ใช้แข็งมาก เช่น เหล็กทำเครื่องมือ เหล็กกล้า แผ่นโลหะ ท่อบางๆ
มุมฟันเลื่อย
ฟันเลื่อยแต่ละฟันมีลักษณะคล้ายกับลิ่ม ทำหน้าที่จิกเข้าไปในเนื้อวัสดุ ฟันแต่ละฟันประกอบด้วยมุมที่สำคัญ 3 มุม ได้แก่
- มุมคมตัด (b) เป็นมุมคมตัดของฟันเลื่อย
- มุมคายเศษ (g) เป็นมุมที่ใช้ดันเศษโลหะออกจากฟันเลื่อย
- มุมหลบ (a) เป็นมุมที่ทำให้ลดการเสียดสีระหว่างฟันเลื่อยกับชิ้นงาน และช่วยให้เกิดมุมคมตัด 3 มุมรวมกัน
คลองเลื่อย (Free Cutting Action)
คลองเลื่อย คือ ความกว้างของร่องบนวัสดุงาน หลังจากที่มีการตัดเฉือน ปกติคลองเลื่อยจะมีขนาดความหนามากกว่าใบเลื่อย ทั้งนี้ ถ้าไม่มีคลองเลื่อย ขณะทำการเลื่อยใบเลื่อยก็จะติด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใบเลื่อยหัก
ลักษณะของคลองเลื่อย
1. คลองเลื่อยฟันสลับ ลักษณะฟันเลื่อยจะสลับซ้ายกับขวาตลอดใบเลื่อย ฟันเลื่อยลักษณะนี้เหมาะสำหรับใช้กับเครื่องเลื่อยกล
2. คลองเลื่อยแบบฟันคลื่น ลักษณะฟันเลื่อยจะเลื้อยเป็นคลื่น ฟันเลื่อยลักษณะนี้เหมาะสำหรับใช้งานกับเลื่อยมือ
3. คลองเลื่อยแบบตอก ลักษณะฟันเลื่อยจะมีมุมฟรีทั้งสองข้าง ฟันเลื่อยลักษณะนี้เหมาะสำหรับใช้งานกับ
เลื่อยวงเดือน
ทิศทางการตัดเฉือน
การทำงานของคมเลื่อยประกอบด้วยทิศทางที่สำคัญ 2 ทิศ ได้แก่ ทิศทางการกดลงและทิศทางการดันไป ดูตามลูกศร ทิศทางทั้ง 2 เป็นตัวทำให้เกิดการตัดเฉือนขึ้น แรงที่กระทำการกดและการดันจะต้องสัมพันธ์กัน ถ้าแรงใดมากเกินไปหรือฝืนอาจจะทำให้ใบเลื่อยหักได้
การประกอบใบเลื่อยเข้าโครงเลื่อย
การประกอบใบเลื่อยเข้ากับโครงเลื่อยต้องระวังทิศทางของฟันเลื่อย จะต้องใส่ให้ถูกทิศทางเนื่องจากจังหวะถอยกลับของโครงเลื่อย จะเป็นจังหวะที่ทำการตัดเฉือน เพื่อตัดเฉือนชิ้นงานการประกอบใบเลื่อยต้องผ่อนตัวดึงใบเลื่อยให้ยื่นออกแล้วใส่ใบเลื่อยเข้าไปให้รูของใบเลื่อยตรงกับสลักร้อยทั้ง 2 ข้าง ของโครงเลื่อย จากนั้นปรับตัวดึงใบเลื่อยให้พอตึง ๆ แล้วปรับขยับใบเลื่อยให้ตั้งฉากโดยการใช้ค้อนเคาะเบา ๆ ให้ใบเลื่อยแนบสนิทกับตัวดึงใบเลื่อย จึงขันให้ตึงอีกครั้งด้วยแรงมือ
การจับยึดชิ้นงานสำหรับงานเลื่อย
การจับงานที่ผิดวิธีในกรณีชิ้นงานสั้น ปากของปากกาไม่สามารถจะจับชิ้นงานให้แน่นได้ แรงกดของเกลียวจะดันชิ้นงานหลุด ถ้าฝืนเลื่อย ใบเลื่อยจะหัก การจับงานที่ถูกวิธี ปากของปากกาจะต้องกดขนานกันทั้ง 2 ปาก การจับชิ้นงานสั้น ใช้เหล็กหนุนช่วยในการจับ ดันปากของปากกาให้ขนาน กดชิ้นงานแน่นเมื่อขัน
เกลียวจะทำให้ชิ้นงานไม่หลุด
การวัดตัดชิ้นงาน
การเลื่อยชิ้นงานขนาดเดียวกันจำนวนมาก ๆ ถ้าตั้งวัดงานทุกครั้งที่ทำการตัด จะใช้เวลามากและขนาดของชิ้นงานจะไม่เท่ากัน มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ วิธีการแก้ไขในการตัดชิ้นงานขนาดเดียวกันจำนวนมาก ๆ โดยการตั้งวัดระยะงานชิ้นแรก แล้วใช้แขนตั้งระยะช่วยในการเลื่อยชิ้นงานชิ้นต่อไป
การใช้แขนตั้งระยะ
แขนตั้งระยะ ช่วยในการวัดชิ้นงานที่ต้องการตัดจำนวนมาก ๆ ให้ได้ขนาดเดียวกันทุกชิ้นแขนตั้งระยะสามารถปรับระยะได้ โดยการขันสกรูยึดให้แน่น และมือหมุนขันแน่น เมื่อปรับได้ที่แล้วต้องขันแน่นทั้ง 2 จุด เพราะเมื่อดันชิ้นงานเข้ามาตัดใหม่จะเกิดการกระแทก อาจทำให้ขนาดเปลี่ยนแปลงไปได้
Tags:
No comments:
Post a Comment