การเลื่อย จำแนกเป็นการเลื่อยด้วยมือ (Hand Sawing) คือเป็นงานเลื่อยชิ้นงานจำนวนไม่มาก และเลื่อยด้วยเลื่อยไฟฟ้า (Power Hack Saw) หรือเรียกว่า เครื่องเลื่อยกล (Sawing Machine) จำเป็นสำหรับงานเลื่อยชิ้นงานอุตสาหกรรม คือเลื่อยชิ้นงานจำนวนมาก ทั้งชิ้นงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เครื่องเลื่อยกลแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
เครื่องเลื่อยกลแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. เครื่องเลื่อยชัก (Power Hack Saw)
2. เครื่องเลื่อยสายพานนอน (Horizontal Band Saw)
3. เครื่องเลื่อยสายพานตั้ง (Vertical Band Saw)
4. เครื่องเลื่อยวงเดือน (Radius Saw or Circular Saw)
เครื่องเลื่อยชัก |
เครื่องเลื่อยแบบชักเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการเลื่อยตัดวัสดุงานให้ได้ขนาดและความยาวตามความต้องการ ระบบการขับเคลื่อนใบเลื่อย ใช้ส่งกำลังด้วยมอเตอร์ แล้วใช้เฟืองเป็นตัวกลับทิศทางและใช้หลักการของข้อเหวี่ยงเป็นตัวขับเคลื่อนให้ใบเลื่อยเคลื่อนที่กลับไปกลับมาในแนวเส้นตรงอย่างต่อเนื่องทำให้ใบเลื่อยสามารถตัดงานได้
ส่วนประกอบของเครื่องเลื่อยชัก
ส่วนประกอบทุกส่วนมีความสำคัญเท่ากัน เพราะจะต้องทำหน้าที่ร่วมกันตลอดเวลาซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1.1 โครงเลื่อย (Saw Frame) มีลักษณะเหมือนตัวยูคว่ำ โครงเลื่อยส่วนใหญ่ทำจากเหล็กหล่ออย่างดีใช้สำหรับใส่ใบเลื่อย โครงเลื่อยจะเคลื่อนที่ไป – มาอยู่ในร่องหางเหยี่ยวโดยการส่งกำลังจากล้อเฟือง
1.2 ปากกาจับงาน (Vise) ใช้จับชิ้นงานเพื่อทำการเลื่อย สามารถปรับปรุงเอียงขวา-ซ้าย ได้ข้างละ 45 องศา และสามารถเลื่อนปากเข้า-ออกได้ด้วยเกลียวแขนหมุนล็อคแน่น
1.3 แขนตั้งระยะงาน (Cut Off Gage) มีหน้าที่ในการตั้งระยะของชิ้นงานที่ต้องการตัดจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ชิ้นงานที่ตัดออกมามีความยาวเท่ากันทุกชิ้น
1.4 ระบบป้อนตัด เครื่องเลื่อยชักมีระบบป้อนตัด 2 ชนิด คือ ชนิดใช้ลูกถ่วงน้ำหนัก และชนิดใช้น้ำมันไฮดรอลิกทั้ง 2 ชนิด ทำหน้าที่เหมือนกันคือการป้อนตัด แต่หลักการทำงานต่างกันตรงที่ชนิดลูกถ่วงน้ำหนักอาศัยแรงดึงดูดของโลก ส่วนชนิดไฮดรอลิกอาศัยแรงดันจากน้ำมันไฮดรอลิก
1.5 ระบบหล่อเย็น เครื่องเลื่อยชักมีความจำเป็นต้องใช้น้ำหล่อเย็น เพื่อช่วยระบายความร้อนเนื่องจากการเสียดสีระหว่างใบเลื่อยกับชิ้นงาน และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของใบเลื่อยให้ยาวนาน
1.6 ฐานเครื่องเลื่อยชัก (Base) ทำหน้าที่รองรับส่วนต่าง ๆ ของเครื่องเลื่อยชักทั้งหมด ฐานเครื่องเลื่อยชักบางชนิดจะทำเป็นโพรงภายใน เพื่อเป็นที่เก็บถังน้ำหล่อเย็นและมอเตอร์
1.7 มอเตอร์ (Motor) เครื่องเลื่อยชักมีมอเตอร์ทำหน้าที่เป็นต้นกำลังขับมอเตอร์จะใช้กับกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์หรือ 380 โวลต์ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต
1.8 สวิตซ์เปิด-ปิด เครื่องเลื่อยชักมีสวิตช์เปิด-ปิด แบบกึ่งอัตโนมัติ คือ สวิตซ์เครื่องจะปิดโดยอัตโนมัติเมื่อใบเลื่อยตัดชิ้นงานขาด
1.9 ชุดเฟืองทด (Gear) ทำหน้าที่ในการทดส่งกำลังจากมอเตอร์ไปยังโครงเลื่อยเฟืองทดที่ใช้กับเครื่องเลื่อยชักมี 2 ชนิด คือ เฟืองเฉียง และเฟืองตรง
1.10 มู่เล่ย์ (Pulley) ทำหน้าที่ส่งกำลังผ่านสายพานไปยังชุดเฟืองทด ใช้กับสายพานตัววี
กลไกการทำงานของเครื่องเลื่อยชัก
กลไกการทำงานของเครื่องเลื่อยชัก เป็นกลไกส่งกำลังด้วยมอเตอร์ ส่งกำลังผ่านเฟืองขับ ซึ่งเป็นเฟืองทด เพื่อทดความเร็วรอบมอเตอร์ และเพื่อทดแรงขับของมอเตอร์ ที่ข้างเฟืองขับ มีจุดหมุนก้านต่ออยู่คนละศูนย์กับศูนย์กลางเฟือง เพื่อต่อก้านต่อไปขับโครงเลื่อย ให้ชักโครงเลื่อยเดินหน้าและถอยหลังได้
Tags:
No comments:
Post a Comment